ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา
ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง กิจกรรมหรือ แนวปฏิบัติใด ๆ ที่หากดำเนินการตามระบบและแผนที่ได้วางไว้แล้ว จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตของการศึกษาที่มีคุณภาพตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์

วัตถุประสงค์ของการประกันคุณภาพ

1. เพื่อให้หน่วยงานทางการศึกษาได้พัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการศึกษา และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของผู้เกี่ยวข้อง
2. เพื่อให้สังคมมั่นใจเกี่ยวกับผลผลิต/บริการของหน่วยงานทางการศึกษา
3. เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้สมัครเข้าศึกษาในหน่วยงานทางการศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพของบัณฑิต

ความจำเป็นในการประกันคุณภาพ

1. โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วผลกระทบต่อคุณภาพของคน
2. ความหลากหลายในคุณภาพของสถานศึกษา การแข่งขันกันสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. ความจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ให้เป็นสากลเพื่อการยอมรับจากนานาชาติ
4. สร้างความมั่นใจให้แก่สังคมว่าสามารถผลิตคนที่มีคุณภาพ
5. เพื่อให้ข้อมูลแก่สาธารณะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน ผู้จ้างงาน ผู้ปกครอง รัฐบาลและประชาชนทั่วไป

การควบคุมคุณภาพการศึกษา

หมายถึง การมีระบบและกลไกในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพเพื่อกำกับการดำเนินงานของสถาบันให้ได้ผลตามดัชนีบ่งชี้คุณภาพที่กำหนด

การตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

หมายถึง กระบวนการในการศึกษาวิเคราะห์ว่าสถาบันมีระบบและกลไกกำกับการควบคุมคุณภาพและได้ปฏิบัติ ตลอดจนมีผลการปฏิบัติตามระบบและกลไกดังกล่าว

การประเมินคุณภาพการศึกษา

หมายถึง กระบวนการวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของสถาบันว่าส่งผลต่อคุณภาพตามดัชนีบ่งชี้

การประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา

หมายถึง การมีระบบและกลไกในการควบคุมตรวจสอบ และประเมินการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพตามดัชนีบ่งชี้ที่กำหนด

 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
หมวด 6 มาตรฐาน และการประกันคุณภาพการศึกษา

สาระสำคัญ "กำหนดให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษา ให้สถานศึกษาจัดให้มี ระบบประกันคุณภาพภายใน โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยต่อสาธารณชน และให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ) ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกทุกแห่ง ทุกๆ 5 ปี"

มาตรา 47

ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก

มาตรา 48

ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 49

ให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา มีฐานะเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

มาตรา 50

ให้สถานศึกษาให้ความร่วมมือในการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา ตลอดจนให้บุคลากร คณะกรรมการของสถานศึกษา รวมทั้งผู้ปกครองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่พิจารณาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

มาตรา 51

ในกรณีที่ผลการประเมินภายนอกของสถานศึกษาใดไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา จัดทำข้อเสนอแนะ การปรับปรุงแก้ไขต่อหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้สถานศึกษาปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากมิได้ดำเนินการดังกล่าว ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษารายงานต่อคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข